Content on this page requires a newer version of Adobe Flash Player.

Get Adobe Flash player

 

4.1 ฐานการเรียนรู้ “ลอยกระทงสาย ไหลประทีปพันดวง”

สถานที่ตั้ง : อาคาร 1 ชั้น 2 ห้อง 1201

วิทยากรแกนนำ : นางพรเพ็ญ สว่างโชติ และคณะ

วิทยากรกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน : นายประโยชน์ อ่อนนุม

วัตถุประสงค์ของแหล่ง / ฐานเรียนรู้

1. เพื่อส่งเสริมสนับสนุนให้ผู้เรียนได้แสวงหาความรู้และเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง
2. เพื่อฝึกฝนผู้เรียนให้เกิดกระบวนการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง
3. เพื่อสร้างจิตสานึกรักท้องถิ่นของตนเอง
4. เพื่อให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์จรรโลงวัฒนธรรมประเพณีของท้องถิ่น

วิธีใช้ฐานเรียนรู้

1. ศึกษาเป็นรายบุคคลหรือเป็นกลุ่ม
2. ศึกษาวัฒนธรรมประเพณีกระทงสาย ความรู้เกี่ยวกับประเพณีกระทงสายไหลประทีปพันดวง จากสื่อสิ่งพิมพ์ สื่อของจริง และสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ในศูนย์การเรียนรู้ทั้ง 5 ศูนย์

ข้อมูลความรู้

         การลอยกระทงสายเป็นวัฒนธรรมพื้นบ้านที่สืบสานมาจากวิถีการกินอยู่ สู่ประเพณีบูชาสายน้ำอันงดงาม ประเพณีลอยกระทงสาย ณ ลำน้ำปิง ของชาวเมืองตาก เป็นประเพณีเก่าแก่ที่มีการปฏิบัติสืบทอดมายาวนาน ประเพณีดังกล่าว มีเอกลักษณ์ ที่แตกต่างจากที่อื่นๆ คือ การใช้กะลา มะพร้าว เป็นองค์ประกอบหลักของกระทง สาเหตุที่ใช้กะลาสืบเนื่องมาจากชาวเมืองตากนิยมรับประทาน “เมี่ยง” เป็นอาหารว่าง และผลิตเป็นสินค้าพื้นเมือง จึงต้องใช้เนื้อมะพร้าวเป็นจำนวนมาก เพื่อทำเป็นไส้เมี่ยง และมีกะลาเป็นส่วน ที่เหลือทิ้ง

         ครั้นเมื่อถึงเทศกาลลอย กระทง ชาวบ้านก็จะนำกะลาดังกล่าว ออกมาขัดล้างจนสะอาด เพื่อใช้เป็นทุ่นแพรองเชื้อเพลิงในการลอยกระทง สำหรับเชื้อเพลิงเดิมนั้นใช้ขี้ไต้ตัดเป็นท่อนๆ ต่อมาได้พัฒนามาใช้เทียนไขที่เคี่ยวจนเหลวเทใส่ในกะลา ที่มีด้ายฟั่นรูปตีนกาวางไว้ มาเป็นเชื้อเพลิงแทน เมื่อถึงเวลาค่ำ ชาวบ้านแต่ละชุมชนจะจัดขบวนแห่มายังริมฝั่งแม่น้ำ โดยนำกะลาที่เตรียมไว้มารวมกันแล้วช่วยกันจัด “แพผ้าป่าน้ำ” ซึ่งตกแต่งจากต้นกล้วย ประดับดอกไม้ ธูป เทียน และธงทิวหลากสี จากนั้นก็จะทำพิธีจุดธูป เทียน บูชาพระแม่คงคา และตั้งจิตอธิษฐาน บูชารอยพระพุทธบาท ณ หาดทรายริมแม่น้ำคงคา เสร็จแล้วก็ปล่อย “แพผ้าป่าน้ำ” หรือ “กระทงนำ” ไป จากนั้นแต่ละชุมชน ก็จะจับฉลากเพื่อแข่งขัน ปล่อยกระทงที่จากกะลา หรือที่เรียกว่า “กระทงตาม” ลงในแม่น้ำให้เป็นระยะเท่าๆ กัน โดยสม่ำเสมอ กระทงตามที่ทำจากกะลาเหล่านั้นก็จะลอยตามกันเป็นสายๆ ส่องแสง ระยิบระยับไปตามท้องน้ำ ขณะที่ริมฝั่งน้ำ ก็จะมีการตีฆ้อง ร้องรำทำเพลง เพื่อเป็นกำลังใจกันอย่างสนุกสนาน ชุมชนใดที่ปล่อยกระทง ตามได้ระยะ สม่ำเสมอ มีแสงไฟไม่ดับตลอดสุดคุ้งน้ำหนึ่ง ก็จะเป็นผู้ชนะธรรมเนียม ปล่อยแพผ้าป่าน้ำและแข่งขันปล่อยกระทงจากกะลาของชาวเมืองตากได้มีการสืบสานพัฒนากันอย่างต่อเนื่อง จนกลายเป็นประเพณีลอยกระทงสายที่เป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดตาก

         ต่อมาในปีพุทธศักราช ๒๕๔๐ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจาก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช โปรดเกล้าฯ พระราชทานถ้วยรางวัล สำหรับทีมที่ชนะเลิศการประกวดกระทงสาย และในปีพุทธศักราช ๒๕๔๑ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระประทีปสำหรับอัญเชิญลงลอยเป็นกระทงนำในวันเปิดงานลอยกระทงสายไหลประทีปพันดวง เพื่อเป็นสิริมงคลแก่งานและในปี พุทธศักราช ๒๕๔๔ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณ จากสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ โปรดเกล้าฯ พระราชทานพระประทีปร่วมลอยด้วย

         ปัจจุบัน ประเพณีลอยกระทงสายของจังหวัดตาก จะจัดขึ้นในช่วง เดือนพฤศจิกายนของทุกปี เป็นระยะเวลารวม ๖ วัน โดยจะมีชุมชน หรือหมู่บ้านต่างๆ มาร่วมแข่งขันลอยกระทงสาย วันละ ๔ – ๕ คณะ ซึ่งคณะกรรมการจะกำหนดให้แต่ละคณะ จะต้องปล่อยกระทงนำ ๑ กระทง กระทงตามที่ทำจากกะลา ๑,๐๐๐ ใบ และมีกระทงปิดท้ายอีก ๑ กระทง กติกาดังกล่าว เป็นที่มาของชื่องาน ประเพณีลอย กระทงสาย “ไหลประทีปพันดวง” ซึ่งเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางในปัจจุบัน

ประโยชน์

1. นักเรียนได้ศึกษาหาความรู้อย่างเป็นระบบ
2. ได้เรียนรู้ประวัติความเป็นมาเกี่ยวกับวัฒนธรรมประเพณีในท้องถิ่นของตน
3. นักเรียนเกิดความรักและภาคภูมิใจในท้องถิ่นของตน




<-- กลับไปยังเว็บไซด์ศูนย์การเรียนรู้ที่ 4 ศูนย์ส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น